การศึกษาเปรียบเทียบความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กเล็ก (ก่อนวัยเรียน) ระหว่างเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่บ้านและเด็กที่เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

บทคัดย่อ

บทนำ: รูปแบบการเลี้ยงดูและกิจกรรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับเด็กมีอิทธิพลต่อพัฒนาการเด็ก เด็กไทยส่วนมากอาศัยในครอบครัวขยายหรือเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังมีความหลากหลายในมาตรฐาน ดังนั้นเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่บ้านและที่เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจได้รับการฝึกฝนเรียนรู้แตกต่างกัน ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานที่ไหนมีความเสี่ยงในการพบปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมมากกว่า

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กระหว่างเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่บ้านกับเด็กที่เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และหาปัจจัยเกี่ยวกับผู้เลี้ยงดูเด็กและการเลี้ยงดูที่มีผลต่อปัญหาพัฒนาการ และพฤติกรรมเด็ก

วิธีการศึกษา: เก็บแบบสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กและแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม Parents Evaluation Developmental Status (PEDS) จากผู้ปกครองของเด็กอายุ 1 ถึง 5 ปีที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล วิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก (multivariable logistic regression) ในการหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม

ผลการศึกษา: ร้อยละ 15 ของอาสาสมัครพบความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมจากแบบสอบถาม PEDS โดยอยู่กลุ่มที่ได้รับการเลี้ยงดูที่บ้านร้อยละ 55 และเป็นกลุ่มที่เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กร้อยละ 45 (P = 0.254) จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม คือ เพศของเด็กโดยเพศหญิงมีผลลดความเสี่ยงของปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม ส่วนการเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือไม่นั้นไม่พบว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเสี่ยงของปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป: ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างความชุกของความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมในเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่บ้านและเด็กที่เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสองประเภท แสดงว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสี่ยงปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมในเด็กเล็กไม่ได้ขึ้นกับสถานที่เลี้ยงเด็กเป็นหลัก

วิธีวิจัย

เก็บแบบสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กและแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม Parents Evaluation Developmental Status (PEDS)

ผู้แต่ง

ลีลารพิน จงวัฒนสวัสดิ์

ชาญยุทธ์ ศุภคุณภิญโญ

ชื่อวารสาร

วชิรเวชสาร

ปี: 2564

ลิงก์เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม

แชร์โพสนี้ :

Facebook
Twitter
LinkedIn

โพสที่เกี่ยวข้อง :