บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์ และปัจจัยที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนนโยบายโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต และ 3) เพื่อประเมินรูปแบบการขับเคลื่อนนโยบายโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต พื้นที่ในการศึกษาคือพื้นที่นำร่องในปี 2561–2563 จำนวน 3 อำเภอ 7 ตำบล ในจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ภาคีเครือข่ายจำนวน 60 คน หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงานแล้วจำนวน 2,619 คน หญิงตั้งครรภ์จำนวน 676 คน หญิงที่คลอดบุตรจำนวน 661 คน และ เด็กอายุ 0–2 ปีจำนวน 2,252 คน จากประชากรที่มีอยู่จริงในพื้นที่เป้าหมาย เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากเอกสาร การสังเกต บันทึกการสนทนากลุ่ม การถอดบทเรียนทั้งโครงการ และเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบ Chi-square test และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการขับเคลื่อนนโยบายโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตที่เหมาะสมมีองค์ประกอบ 5 ด้าน คือ 1) ด้านความเข้มแข็งของผู้นำในชุมชนและความสนใจในเรื่องสุขภาวะ 2) ด้านความเข้มแข็งของชุมชน 3) ด้านรูปแบบการดำเนินงาน 4) ด้านความร่วมมือของประชาชน และ 5) ด้านการดำเนินงานแบบบูรณาการในพื้นที่ ผลการประเมินการขับเคลื่อนนโยบาย 1) ด้านบริหารจัดการ มีการแต่งตั้งคณะทำงานตำบลในการขับเคลื่อน จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีทิศทางนโยบายส่งเสริมสุขภาพที่ชัดเจนและสอดคล้องกับปัญหา 2) ด้านกระบวนการดำเนินงาน มีการจัดทำแผนงานการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมทางสุขภาพและกิจกรรมทางสังคม 3) ด้านผลผลิตและผลลัพธ์ พบว่าภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและหญิงตั้งครรภ์มีความพึงพอใจการต่อการมีส่วนร่วมในระดับมาก เมื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์การดำเนินงานก่อนและหลังการขับเคลื่อนโครงการพบว่า หลังการขับเคลื่อนโครงการ อัตราหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ อัตราหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์คุณภาพครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน และ เด็กอายุ 0–2 ปี มีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 และอัตราทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ0.05 4) ด้านผลกระทบพบว่า เด็ก 0-2 ปี มีการเจริญเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์เป้าหมาย ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย การกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกัน กิจกรรมการแก้ไขปัญหาเกิดจากการใช้ข้อมูลจริง จึงเสนอแนะให้นำรูปแบบการดำเนินงานดังกล่าวขยายผลดำเนินงานให้เต็มพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์
คำสำคัญ: การพัฒนารูปแบบ, นโยบายสุขภาพ, สุขภาพมารดาและเด็ก
ผู้แต่ง: ฐาปนิต อมรชินธนา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์
กระวนการวิจัย: Mixed methods study
วารสาร: ศูนย์อนามัยที่ 9
ปี: 2565
ศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ : https://he02.tci-thaijo.org/index.php/RHPC9Journal/article/view/256063